การค้ามนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แท้จริงแล้วมีมานานนับพัน ๆ ปี ดูจากประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ จะมีการทำสงครามกัน และผู้ชนะก็นำเชลยสงครามไปเป็นทาส มีการซื้อ-ขายมนุษย์มาตลอดเวลายาวนาน ในยุคสมัยนี้การซื้อขายมนุษย์เป็นสิ่งต้องห้าม ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีการละเลยให้มีการซื้อความสุขทางเพศจากมนุษย์ ซื้อแรงงานของมนุษย์ ใช้มนุษย์เป็นเครื่องจักรเมื่อผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ มีการล่อลวงให้มนุษย์ทำสิ่งต่าง ๆ โดยใช้ผลประโยชน์และเงินเป็นของล่อใจ เพื่อนำมนุษย์ไปเป็นแรงงานบังคับ … ขัดดอก… แรงงานเด็ก หรือช่วยรบในสงคราม ฯลฯ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีมนุษย์จำนวนหนึ่ง ยังไม่ได้สำนึกว่าคนอื่น ๆ ก็เป็นมนุษย์เหมือนเขา เขาขาดความรัก ความเมตตากรุณา คิดแต่จะหาประโยชน์เพื่อตนเอง โดยไม่คำนึงถึงสิ่งใด ใครจะเป็นอย่างไรเขาก็ไม่สน
ประเทศไทยซึ่งกำลังพัฒนาและขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสให้คนบางประเภทใช้แรงงานเป็นสินค้า นำเข้ามาขายในตลาดแรงงานของประเทศไทย ในภาคใต้ก็มีอยู่มิใช่น้อย แต่อยู่แบบแอบแฝง โชคดีที่ทางรัฐบาลไทยเห็นถึงภัยร้ายนี้ และได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์นี้มาตลอด ทว่าผลประโยชน์ในธุรกิจนี้มีมหาศาล จึงมีคนมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ประกอบกับความไร้เดียงสาของบรรดาแรงงานชาย-หญิง จึงทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
พระศาสนจักรในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ ได้พยายามร่วมแรงร่วมใจกับภาคส่วนต่าง ๆ แก้ไขปัญหานี้มานานแล้ว แต่มักทำในเชิงป้องกัน โดยรณรงค์ และอบรมให้ความรู้แก่แรงงานหรือผู้ตกอยู่ในความเสี่ยง และบุคคลทั่วไปเสียมากกว่า การทำงานเชิงรุกนั้นเพิ่งจะมีขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ยังเป็นไปในวงแคบ ๆ เนื่องจากมิได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเหมือนลูกจ้างและนายจ้าง มิใช่ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลเหมือนภาครัฐ และไม่มีอำนาจใดใดที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์นี้ได้ ดังนั้น จึงใช้ยุทธวิธีการเกาะกลุ่มกันในรูปของไตรภาคี และทำงานร่วมกันกับภาคธุรกิจ ซึ่งก็คือนายจ้าง-ผู้ประกอบการ กับภาครัฐตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดูแลเรื่องนี้ และกับกลุ่มผู้เสียหายและแรงงาน โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ล่ามแปลภาษา และผู้เกื้อกระบวนการ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่มีข้อขัดแย้งในประเด็นนี้ ได้พบปะพูดคุยกันถึงปัญหา และร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติ ในขณะเดียวกันก็ทำการรณรงค์และอบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันการค้ามนุษย์แก่สาธารณชนมาตลอด
ในช่วง 1 ปีเศษมานี้ พระศาสนจักรคาทอลิกในภาคใต้ได้เข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามแก้ไขปัญหา Tier-3 และการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU ของ E.U.) ซึ่งนโยบายต่าง ๆ ที่ภาครัฐนำออกมาใช้ค่อนข้างเข้มข้น พร้อมกับมีการแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ทางศูนย์สังคมพัฒนาฯ ได้พยายามตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในระดับปฏิบัติการ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.ระนอง จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่อง และได้แสวงหาการร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น ในส่วนของผู้เสียหาย/ผู้ตกอยู่ในความเสี่ยง ได้ช่วยสนับสนุนให้ร่วมกันเฝ้าระวัง ดูแลกันเองในระดับหนึ่ง โดยดึงเข้าร่วมงานกับภาครัฐและเอกชนได้โดยตรงด้วย
ผลของงานที่ทำมานี้ ได้ทำให้เกิดความสงบสุขในชุมชน ความสามัคคีในภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับชุมชนและจังหวัด ลดการเข้าใจผิดและความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นลง อีกทั้งยังทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติดีขึ้น ตัวแรงงานข้ามชาติเองก็ทำงานอยู่ในประเทศไทยอย่างสบายใจขึ้น รู้สึกได้รับการดูแลเอาใจใส่จากนายจ้างดีขึ้น จากคนไทยในชุมชน และจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย บางคนถึงกับพูดว่า ทำงานอยู่ในประเทศไทยนี้กินอิ่มนอนหลับ และมีเงินเหลือส่งกลับไปเลี่ยงดูบิดามารดาที่ประเทศของเขาได้ด้วย ซึ่งถ้าอยู่ในประเทศของเขาก็จะลำบากมากกว่านี้หลายเท่า ดังนั้นแรงงานข้ามชาติหลาย ๆ คนจึงอยู่และทำงานที่ประเทศไทยนี้เป็นเวลานาน ๆ ถึงบางคนจะกลับไปเยี่ยมบ้านก็จะอยู่ได้ไม่นาน ที่สุดก็กลับมาทำงานในประเทศไทยต่อไป
ดังนั้น บทบาทของพระศาสนจักรในภาคใต้ ก็คือยังร่วมมือต่อไปในลักษณะของไตรภาคี ซึ่งมีภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคแรงงานข้ามชาติ โดยยืนอยู่ท่ามกลางไตรภาคีที่ทำงานในประเด็นนี้ ในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น และจะร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหานี้ โดยระลึกอยู่เสมอว่า “ถึงแม้ทัศนคติและจิตสำนึกของคนจะเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยากก็ตามที แต่เราก็ต้องพยายามร่วมมือกันต่อไป” เพราะปัญหาการค้ามนุษย์นี้มิได้เป็นปัญหาของผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นปัญหาของชาติ ของภูมิภาค และของโลกไปแล้ว