ความเชื่อของเราคริสตชน เริ่มต้นจาก “การสร้าง” พระเจ้าทรงสร้างโลกและสรรพสิ่ง และ สุดท้ายทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า คริสตชนจึงมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ผ่านทางความสัมพันธ์กับเพื่อนพี่น้อง และสิ่งสร้างต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์กับเพื่อนพี่น้องและสิ่งสร้างก็เป็นเครื่องหมายที่แสดงออกมาถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับพระเจ้าในฐานะพระผู้สร้าง และเป็นบิดาผู้มีใจเมตตา กิจการแห่งความรักเมตตาต่อเพื่อนพี่น้องและสิ่งสร้าง จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้มิติด้านงานอภิบาลของพระศาสนจักรคาทอลิก เพื่อจะเข้าถึงความหมายของมิติด้านสังคมในพระศาสนจักรคาทอลิก สิ่งแรกที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ก็คือ “มนุษย์” ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งสร้าง
- ความหมายของ “มนุษย์” ในทัศนะของพระศาสนจักรคาทอลิก
มนุษย์ที่ถูกสร้าง “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายา และตามอย่างของเรา” (ปฐก.1:26) ด้วยภาพลักษณ์ของพระเจ้า มนุษย์จึงมีจิตวิญญาณ มีความเป็นอมตะ ไม่มีขอบเขต มีสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ มีภูมิปัญญา มีอิสรภาพ อำเภอใจ มีน้ำใจ มีความรัก มีมโนธรรมสำนึก รู้ดี รู้ชั่ว และมีความเชื่อ รู้จักใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ มีความรับผิดชอบ และมีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ
มนุษย์มีคุณค่า และศักดิ์ศรี เอกลักษณ์และคุณลักษณะโดดเด่นที่เหนือจากสรรพสัตว์และสิ่งสร้างอื่น ๆ ทั้งหลาย เป็นการแบ่งปันชีวิตของพระเจ้าให้แก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งปวง ทำให้มนุษย์มีเกียรติและศักดิ์ศรี และเป็นสิ่งสร้างที่ประเสริฐสูงสุดในบรรดาสิ่งสร้างทั้งหลาย มนุษย์จึงต้องเคารพศักดิ์ศรี ยกย่องและให้เกียรติแก่กันและกัน
“ให้ครอบครอง…………และปกครอง………………..” (ปฐก.1:26) , “พระเจ้าจึงทรงให้มนุษย์นั้นอยู่ในสวนเอเดน ให้ทำและรักษาสวน…” (ปฐก.2:15) ดังนั้นมนุษย์ จึงต้อง ทำงาน เพื่อมีเป้าหมายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว และ ร่วมกับพระเจ้าในการดูแลรักษาและปกป้องโลก พระเจ้าประทานทรัพยากรให้แก่มนุษย์ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิครอบครอง แต่ด้วยท่าทีของการแบ่งปัน และเคารพในศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมกัน และการดูแลสิ่งสร้างนั้น ต้องมิใช่เป็นการเอาเปรียบ ใช้อย่างสุลุ่ยสุร่าย ไม่เคารพ แต่ควรเป็นท่าทีของการเคารพธรรมชาติ และบำรุงรักษา เพื่อให้การดำรงชีวิตอยู่อย่างเกื้อกูลกันและกัน ส่งเสริมและเสริมสร้างกันและกัน
ทรงสร้างให้เป็นชาย และเป็นหญิง (ปฐก.1:27) ดังนั้นมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง มีความเสมอภาพในความเป็นมนุษย์ มีเกียรติ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ในความเป็นชาย หญิง แม้จะมีคุณค่าที่แตกต่างกัน แต่ควรเป็นส่วนที่เสริมสร้างกันและกัน เกื้อกูลกันและกัน และพึ่งพาอาศัยกันและกัน
- เราต้องพัฒนา เพราะ การพัฒนาคือ คือ การฟื้นฟู บูรณะ ปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ใน ทุก ๆ ด้าน ให้ดีขึ้นอย่างมีดุลยภาพ สมกับเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นั่นคือ มนุษย์ทุกคนมีอะไรดีในชีวิตของตน อยู่แล้ว แต่อาจจะมีปัจจัยหรือเงื่อนไขบางประการที่ครอบงำและบดบังวิถีชีวิตอยู่ งานพัฒนาจึงเป็นการ สร้างโอกาส ฟื้นฟู และเสริมสร้างความมั่นใจและพัฒนาศักยภาพของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่เข้ามาร่วมในกิจกรรม โดยมุ่งหวังที่จะมีชีวิตที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น….
- แนวทางของพระศาสนจักรคาทอลิก ในงาน “พัฒนามนุษย์”
ธรรมนูญด้านการอภิบาล เรื่องพระศาสจักรในโลกสมัยนี้…. ออกมาในปี 2508 เป็นการประกาศ ”จุดยืนของพระศาสนจักรคาทอลิกที่จะเดินหน้าไปพร้อมกับมนุษยชาติ และร่วมชะตากรรมเดียวกับโลก” “ความยินดี และความหวัง ความเศร้า และความเป็นห่วงของมนุษย์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของผู้ยากจนและผู้ทนทุกข์ ถือว่าเป็นความยินดีและความหวัง ความเศร้าและความเป็นห่วงของสาวกของพระคริสตเจ้าด้วย เพราะคริสตชนเป็นสมาชิกของครอบครัวมนุษย์เช่นเดียวกัน” (ศลน.1) และในปี 2510 พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ได้ออกสมณสาส์น “การพัฒนาประชาชาติ” ให้ความหมายและความสำคัญของงานพัฒนาในคำจำกัดความที่ว่า การพัฒนาจะจำกัดอยู่กับความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างเดียวมิได้ การพัฒนาที่แท้จริงต้องมีลักษณะองค์รวม “การพัฒนาต้องไม่ถูกจำกัดเพียงแค่การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่แท้จริง ต้องทำให้สมบูรณ์และครบครัน นั่นคือ ต้องส่งเสริมความดีของทุก ๆ คน…. เราไม่เชื่อว่า มีการแยกเศรษฐกิจออกไปจากมนุษย์ และแยกการพัฒนาออกจากอารยธรรม สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ มนุษย์ทุกคนและทุกกลุ่ม และสังคมมนุษย์ทั้งหมด” (พปช.14)
ดังนั้น จุดยืนของคริสตชน ในการร่วมมือกับพระศาสนจักรในงานพัฒนามนุษย์ ก็คือมนุษย์เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า มีความคล้ายคลึงกับพระองค์ นั่นคือ
- มนุษย์มีจิตวิญญาณ มีปรีชาญาณของพระ มีความเชื่อต่อสิ่งสูงสุด มีอิสรเสรีภาพ มีพลังสร้างสรรค์ มีศักยภาพในการเติบโตงอกงาม มุ่งไปสู่ความดีครบครัน ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องให้ความสำคัญต่อมิติด้านชีวิตจิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นพลังผลักดันภายในที่ส่งผลถึงวิถีชีวิต ทั้งส่วนตัวและส่วนร่วม
- มนุษย์มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น โครงการและกิจกรรมงานอภิบาล หรืองานพัฒนาใด ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนต้องคำนึงถึง “มนุษย์” เป็นหลัก คำนึงถึงความใฝ่ฝันลึก ๆ ที่เขามีอยู่ ประสานพลังแห่งความดีงาม โดยเน้นการมีส่วนร่วมอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ คำตอบของงานพัฒนาจึงอยู่ที่ชุมชน ไม่ใช่มาจากปัจจัยหรืออิทธิพลจากภายนอก
- เป็นการปกป้องและส่งเสริมเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ผู้ปฏิบัติงานต้องคำนึงและให้ความสำคัญต่องานด้านสิทธิมนุษยชน ที่ถูกละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่ส่งผลกระทบต่อตัวมนุษย์เองและต่อหมู่บ้านหรือชุมชน
- เป็นการเสวนา การแสวงหาคุณค่าที่ดีงามในงานศาสนา และวัฒนธรรมของชุมชน และการประสานความร่วมมือกับพี่น้องต่างความเชื่อในการทำงานพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างพระอาณาจักรพระเจ้าในชุมชนนั้น ๆ