สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ต้องเคารพสิทธิ์ หากคิดทำงานให้เกิดผล

เรื่องราวระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หากไม่นับรวมยุคสมัยทาส ยุคการปฏิวัติการเกษตร หรือยุคการปฏิวัติเขียวแล้ว ถือได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมีความชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเริ่มมีการนำเครื่องจักรมาใช้เพิ่มพลังการผลิตให้ได้คราวละมาก ๆ และใช้แรงงานมนุษย์ทำการผลิตในอาคารสถานที่ขนาดใหญ่ที่มิใช่ครัวเรือน โดยมิได้ใช้แรงงานครอบครัว และเครื่องมือง่าย ๆ หรือทำการผลิตในครัวเรือนอีกต่อไป

ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวและแบ่งแยกออกเป็นมากมายหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การก่อสร้าง เกษตรอุตสาหกรรม ประมง แม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญในปัจจุบันที่สร้างรายได้ให้ประเทศในลำดับต้น ๆ ภาคอุตสาหกรรมโดยรวม มีการจ้างงานคนจำนวนมาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น แต่อุตสาหกรรมโดยรวมก็ยังมีการจ้างแรงงานจำนวนมาก

การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมแต่เดิม เป็นการจ้างแรงงานชายเป็นหลัก นอกเหนือจากอุตสาหกรรมบางประเภทที่ต้องใช้ฝีมือแรงงานหญิง เช่นอุตสาหกรรมทอผ้า แต่เมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ก็เริ่มมีการจ้างแรงงานหญิง แรงงานเด็ก และแรงงานข้ามชาติเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน

เนื่องจากแรงงานถือเป็นต้นทุนที่สูงที่สุด และนับวันมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เจ้าของกิจการ หรือนายจ้าง มักจะพยายามลดต้นทุนด้านนี้ลงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะโดยการให้ค่าแรงที่ต่ำ ไม่ให้หรือให้สวัสดิการน้อย หรือมีการจัดระบบจ่ายค่าแรงตามจำนวนชิ้นงาน การจ้างงานตามโครงการที่มีระยะเวลา การเหมางานหรือเหมาช่วง หรือจ้างงานภายนอก (outsourcing) ทั้งนี้เพื่อลดภาระต้นทุนด้านบุคลากร

สถานการณ์การบริหารจัดการแรงงานเช่นนี้ เกิดขึ้นมาตลอดนับแต่เริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือต้องมีคุณภาพชีวิตต่ำ มีความทุกข์ยากขัดสน อยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ถูกเอารัดเอาเปรียบ หลอกลวงมาโดยตลอด สถานการณ์แรงงานที่ย่ำแย่ในภาคอุตสาหกรรมนี้ ก่อให้เกิดความห่วงใยและความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมีการเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก เมื่อนักอุตสาหกรรมชาวอังกฤษเรียกร้องให้มีมาตรการคุ้มครองแรงงานเมื่อปี พ.ศ. 2361 (ค.ศ. 1818) ซึ่งในเวลาต่อมายังได้เกิดการก่อกบฏ การประท้วง การนัดหยุดงานของแรงงาน และการปราบปรามแรงงานทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานระหว่างประเทศขึ้นในยุโรป จนกระทั่งมีการตกลงจัดตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) โดยเป็นความร่วมมือของสามฝ่าย คือรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง และได้มีการทำอนุสัญญาต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองแรงงาน และต่อมา องค์การแรงงานฯ นี้ ได้รับสถานะองค์การชำนัญพิเศษองค์กรแรกของสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) จนกระทั่งมีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) และต่อด้วยการออกปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปี พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) รวมถึงกติกา และอนุสัญญาต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันและคุ้มครองสิทธิของมนุษย์ทุกคน รวมถึงแรงงานด้วย

ในส่วนของพระศาสนจักรคาทอลิกนั้น สถานการณ์ของแรงงานดังกล่าวข้างต้น ทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกมีความห่วงใยและเป็นกังวลต่อแรงงาน โดยพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ได้ออกสมณสาสน์ ซึ่งถือเป็นคำสอนทางการของพระศาสนจักรด้านสังคมฉบับแรกว่าด้วยทุนและแรงงาน ซึ่งมีชื่อว่าRerum Novarum (เป็นภาษาลาติน แปลว่า “สิ่งใหม่” หมายถึงยุคสมัยใหม่ของการพัฒนาอุตสาหกรรม) ในปี พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) ซึ่งได้กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ทั้งของทุนและแรงงาน สมณสาสน์ดังกล่าวบรรยายถึงผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์อย่างใหญ่หลวง เกิดความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและแรงงาน คนจำนวนน้อยได้รับประโยชน์และคนจำนวนมากอยู่กับความยากจน อีกทั้งได้กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะนายจ้างและลูกจ้าง

สำหรับคาทอลิก นับแต่หนังสือปฐมกาล ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในพระคัมภีร์ ก็ได้กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของมนุษย์แล้ว โดยมนุษย์มีหน้าที่ต้องทำงานเพาะปลูกและดูแลสวน ทั้งนี้เพื่อผลิตอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นการร่วมสร้างโลกกับพระเจ้าต่อไป คนงานย่อมมีสิทธิในค่าจ้างของตน และค่าจ้างที่ได้รับจากการทำงาน ก็ไม่นับเป็นหนี้บุญคุณกันแต่ประการใด เนื่องจากเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานจะพึงได้รับ สำหรับชาวนาที่ตรากตรำทำงาน ก็ควรเป็นผู้ที่ได้รับผลผลิตก่อนผู้อื่นด้วย เรื่องราวในหนังสืออพยพเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการจ่ายเงินให้ผู้บาดเจ็บ เพื่อชดเชยเวลาที่เขาไม่ไม่สามารถทำงานได้ และเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะหายเป็นปกติ กล่าวถึงการไม่ใช้แรงงานเยี่ยงทาส การให้หยุดงานพักผ่อนให้มีกำลังวังชาขึ้นใหม่เพื่อจะได้ทำงานต่อไป  ในขณะเดียวกัน เราก็พบเรื่องราวของนายจ้างโกงลูกจ้าง ซึ่งก็เกิดมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติยุคแรกแล้วในเรื่องราวของยาโคบ หลานของอับราฮัม มี การจ่ายค่าตอบแทน หรือค่าจ้างอย่างไม่ยุติธรรม

นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ได้เขียนไว้ในสมณสาสน์ของพระองค์ที่ชื่อว่า “การทำงาน” (Laborem Exercens) ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปี ของสมณสาสน์ Rerum Novarum ที่กล่าวถึงข้างต้น พระองค์ระบุว่า การทำงานเป็นเรื่องที่มีเกียรติและเป็นศักดิ์ศรีสำหรับมนุษย์ เพราะถือเป็นการร่วมสร้างโลกกับพระเจ้า การทำงานเป็นการดูแล การพัฒนาความเป็นมนุษย์ และสร้างสรรค์สำหรับตัวคนทำงานเอง ครอบครัวของเขา มนุษยชาติ และธรรมชาติ การทำงานเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และธรรมชาติด้วย ดังนั้น แรงงานจึงมีคุณค่ามากมายเหนือกว่าทุนใด ๆ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ในการทำงานเพื่อดำรงชีพ เพื่อสนับสนุนครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและมนุษยชาติ รวมถึงบรรดาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และพระเจ้าก็ทรงชื่นชมผลจากการทำงานว่าดี  การทำงานเป็นหน้าที่ และเป็นบ่อเกิดของสิทธิต่าง ๆ ของคนทำงานด้วย พระองค์กล่าวว่า การเคารพสิทธิ ถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของสันติภาพด้วย เนื่องจากหากมีการละเมิดสิทธิ์ ก็จะเกิดความขัดแย้งนั่นเอง สิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

พระองค์ได้แยกแยะนายจ้างออกเป็นสองกลุ่ม คือ นายจ้างโดยตรง และนายจ้างโดยอ้อม นายจ้างโดยอ้อม หลัก ๆ แล้วหมายถึงรัฐหรือผู้กำหนดนโยบายที่มีผลต่อลูกจ้างและความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เรื่องค่าแรง เรื่องสวัสดิการต่างๆ การคุ้มครองแรงงานโดยกฎหมาย การแก้ไขปัญหาการว่างงาน ซึ่งนายจ้างโดยอ้อมนี้ ต้องออกนโยบายและกฎหมายที่ยุติธรรม นายจ้างโดยอ้อมยังมีบทบาทหน้าที่ในการประสานระหว่างนายจ้างโดยตรงและลูกจ้างอย่างยุติธรรมและสมเหตุสมผล บนหลักการการใช้ทรัพยากรของโลกร่วมกัน โดยถือว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตและยังชีพอยู่ในโลกนี้ ซึ่งนั่นก็รวมถึงการจัดสวัสดิการที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนตกงานและครอบครัวของเขาเหล่านั้นด้วย

อีกส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นนายจ้างโดยอ้อม นั่นก็คือบรรดาบุคคล สถาบันต่าง ๆ บรรดาองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ แรงงาน โดยการทำสนธิสัญญาผูกพันประเทศต่าง ๆ ส่งผลต่อการจ้างงาน นายจ้างโดยอ้อมในส่วนนี้จะต้องไม่ทำสนธิสัญญาหรือนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลด้านลบแก่คนงาน นอกจากนั้น บรรดาบรรษัทข้ามชาติก็ถือเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งเสนอสิทธิพิเศษต่าง ๆ มากมาย เพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในประเทศของตน บรรดาบรรษัทข้ามชาติ มักกำหนดราคาสินค้าของตนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่รับซื้อวัตถุดิบในราคาต่ำ นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลกันของรายได้ระหว่างประเทศ ช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยมากกับประเทศที่ยากจนนอกจากจะยังไม่ถูกขจัดแล้ว กลับยิ่งห่างกันมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้ส่งผลต่อคนงานแต่ละคนที่เป็นผู้ทำงานโดยตรงอย่างแท้จริง โดยเฉพาะค่าจ้างที่มักถูกกดให้ต่ำ และมีสัญญาจ้างงานที่เสียเปรียบและไม่มั่นคง

นายจ้างโดยตรง ก็คือผู้จ้างแรงงานนั่นเอง คือผู้ที่ทำสัญญาจ้างงาน กำหนดเงื่อนไขการทำงานและสภาพการทำงาน หากนายจ้างโดยตรงกำหนดเงื่อนไขการทำงานที่ต่ำกว่าความต้องการของแรงงาน โดยเฉพาะหากนายจ้างโดยตรงนี้ต้องการกอบโกยผลกำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อได้รับเงื่อนไขกดดันจากบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการวัตถุดิบในราคาถูก แม้นายจ้างโดยตรงจะมีสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเขา มีสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างยุติธรรมจากการทำงานของแรงงานที่เขาจ้างโดยมิได้เบียดบังหรือเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง แต่ในขณะเดียวกัน นายจ้างโดยตรงก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง และค้ำประกันว่าลูกจ้างจะได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างยุติธรรมและเสมอภาคตามรายละเอียดข้างต้น รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานและกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพร่างกายและจิตใจของลูกจ้าง ที่สำคัญ นายจ้างโดยตรงต้องให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของลูกจ้างด้วย

สำหรับคนงานแล้ว พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรม ซึ่งไม่ต่ำกว่าระดับการดำรงชีวิต  ที่พอเพียงสำหรับเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสม อีกทั้งพอมีเหลือเก็บออมไว้สำหรับยามชรา และเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ขัดสนเดือดร้อนอีกด้วย พวกเขามีสิทธิในการพักผ่อนเพื่อขอบคุณพระเจ้าและไตร่ตรองแผนการแห่งความรักของพระองค์ และเพื่อฟื้นฟูพละกำลังสำหรับการทำงานต่อไป พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า มนุษย์มีสิทธิในการพักผ่อนอย่างน้อยหนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์ และหนึ่งปีทุก ๆ เจ็ดปี เพื่อให้ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูและรักษาดุลยภาพได้  คนงานมีสิทธิที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมและกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ต้องไม่ถูกกำหนดให้ทำงานต่อเนื่องนานเกินไป มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองบุคลิกภาพของแต่ละคนในที่ทำงานโดยไม่กระทบต่อมโนธรรมหรือศักดิ์ศรีส่วนตัวของคน ๆ นั้น ผู้ว่างงานมีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตามความจำเป็นต่อการยังชีพของครอบครัว มีสิทธิที่จะได้รับเงินบำนาญและการประกันสูงอายุ เจ็บป่วย และอุบัติเหตุจากการทำงาน นอกจากนั้น คนงานยังมีสิทธิในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน สมาคม และการนัดหยุดงานเมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของตน และเพื่อนำเสนอนโยบายที่เป็นคุณประโยชน์ต่อคนงานและสังคมโดยรวม อีกทั้งเพื่อคัดค้านนโยบายที่ส่งผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อคนงานและสังคมด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ลูกจ้างก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความซื่อสัตย์ ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินอันชอบธรรมของนายจ้าง อีกทั้งต้องไม่ทุจริตต่อหน้าที่และการทำงานด้วย

นี่คือคำสอนของคาทอลิกในเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบทั้งของนายจ้างโดยอ้อม นายจ้างโดยตรง และลูกจ้าง ซึ่งมิได้มีกล่าวถึงเพียงเฉพาะสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะมนุษย์ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันทุกคน แต่ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ติดตามมาด้วย หากทั้งนายจ้างโดยอ้อม นายจ้างโดยตรง และลูกจ้างให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีของกันและกัน ปกป้องคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของกันและกัน และปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของตนอย่างเหมาะสม การทำงานก็จะลดความขัดแย้งลงได้ ซึ่งจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อแต่ละคน ชุมชน มนุษยชาติ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วย

แชร์บทความนี้