ในช่วงเวลา 5 ปี (2015-2020) มีเอกสารที่ออกมาจากสันตะสำนัก โดยสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ไปยัง คริสตชน และศาสนิกชนทุกคน 2 เล่ม ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน และดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วโลก นั่นคือ สมณสาสน์เลาดาโต ซี (Laudato Si) หรือขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า ออกมาเมื่อ วันที่ 24 พฤษภาคม 2015 เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาโลก ซึ่งเป็นบ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน และสมณลิขิตเตือนใจแอมะซอนที่รักออกมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2020 เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชนพื้นเมือง และพันธกิจของพระศาสนจักรในการเดินเคียงข้างชนพื้นเมืองในภูมิภาคแอมะซอน
สมณสาสน์เลาดาโต ซี ซึ่งเป็นสมณสาสน์หรือเอกสารด้านสังคมที่เน้นเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และได้รับแรงบันดาลจากนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี องค์อุปถัมภ์แห่งสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ สมณสาสน์ เลาดาโต ซี นำเสนอบทวิเคราะห์ต่อประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และตั้งคำถามเชิงศีลธรรมต่อปัญหาความอยุติธรรมทางสังคม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมือง เอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ และขูดรีด ตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมกับยกประเด็นหลักที่ทุกคนต้องให้ความสนใจนั่นคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตของระบบนิเวศ และปัญหามลพิษต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนยากจน ทั้งๆ ที่คนยากจนเหล่านี้เป็นผู้สร้างผลกระทบน้อยที่สุด และเรียกร้องการร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อช่วยกันฟื้นฟูและปกป้องโลก ซึ่งเป็นบ้านที่มนุษย์ทุกคนอาศัยร่วมกัน การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแยกออกจากการแก้ไขปัญหาด้านสังคมของมนุษย์ไม่ได้ เนื่องจาก ชีวิตมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมกับ เป็น 2 เรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ (Everything is connected)
สมณสาสน์เลาดาโต ซี มิใช่เป็นเพียงเอกสารสำคัญ สำหรับศาสนจักรคาทอลิกเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบอย่างมีนัย สำคัญทางการเมือง ต่อการประชุมความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 (COP 21) ที่กรุงปารีส เมื่อเดือนธันวาคม 2558 บรรดาผู้นำชาติต่างๆ ได้ให้เครดิตต่อการแทรกแซงของสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ผู้ทรงเรียกร้องให้ทุกคนโลกกลับใจทางด้านนิเวศ ด้วยการหันมาดูแลและฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับ ลด ละ เลิก ต่อการใช้สิ่งของที่จะกลายเป็นขยะ หรือไปเพิ่มอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศอย่างที่ไม่ควรจะเพิ่มอีกต่อไป
สมณสาสน์เลาดาโต ซี ยังถือเป็นสารานุกรมเชิงนิเวศของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่เผยแพร่มาตรการที่เป็นรูปธรรมหรือ“คู่มือผู้ใช้” ที่ปฏิบัติได้กับทุกคนและทุกระดับ และยังเรียกร้องให้ภาครัฐนำนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น การให้ความสำคัญต่อเรื่อง น้ำ เป็นเรื่อง “สิทธิมนุษยชนสากล” ด้วย เพราะภาวะแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำ หรือน้ำที่เต็มด้วยมลพิษ เป็นปัญหาเร่งด่วนของโลก และส่งเสริมความพยายามระหว่างประเทศในการปกป้องระบบนิเวศที่เปราะบาง เช่น ลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและลุ่มแม่น้ำคองโก
สำหรับเอกสารที่ชื่อว่าสมณลิขิตเตือนใจ แอมะซอนที่รัก (Querida Amazonia) เป็นเอกสารที่ออกมาหลังจากการประชุมสภาพระสังฆราชภูมิภาคแอมะซอน ที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2019 มีคำกล่าวว่า ทำไมสมณลิขิตเตือนใจ แอมะซอนที่รัก เกี่ยวข้องกับสมณสาสน์เลาดาโต ซี เพราะเอกสารเล่มนี้ได้สะท้อนปัญหารูปธรรมของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สรรพชีวิต และระบบนิเวศ รวมทั้ง ชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองภูมิภาคแอมะซอน ซึ่งสมณสาสน์เลาดาโต ซี ได้วิเคราะห์ภาพรวมของปัญหาความสัมพันธ์ของระบบนิเวศธรรมชาติและระบบนิเวศมนุษย์เอาไว้ก่อนหน้านี้
สมณลิขิตเตือนใจ แอมะซอนที่รัก ถือเป็นเอกสารที่พระสันตะปาปา ฟรังซิส แสดงความรักความห่วงใยต่อชีวิตชนพื้นเมืองและสมดุลของระบบนิเวศในภูมิภาคแอมะซอน คลอบคลุม 9 ประเทศ คือบราซิล โบลีเวีย โคลัมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เปรู ซูรินาเม เวเนซูเอลา และเฟรนซ์เกียนา นำเสนอ 4 เรื่องสำคัญ ที่พระศาสนจักรภูมิภาคแอมะซอนกำลังเผชิญอยู่ คือ
(1) เรื่องสิทธิของคนยากจน ชนพื้นเมือง และผู้อยู่มาก่อน ถูกคุกคามด้วยลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ จากบรรษัทข้ามชาติที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า สัมปทานเหมืองแร่ ธุรกิจตัดไม้ และเกษตรเชิงเดี่ยว การจะได้มาซึ่งที่ดินจำนวนมหาศาล ก็ต้องเบียดขับ ละเมิด และคุกคามชีวิตชนพื้นเมืองจำนวนมาก โดยไม่สนใจว่า ความเสื่อมโทรม และหายนะทางธรรมชาติกำลังตามมา และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกด้วย เพราะพื้นที่ป่าแอมะซอนกว้างถึง 1.4 พันล้านเอเคอร์ เป็นป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปอดของโลก สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1,500-2,000 ล้านตันต่อปี ควบคุมโลกมิให้ร้อนมากขึ้น
(2) เรื่องการส่งเสริมให้รักษาวัฒนธรรมที่หลากหลายเอาไว้ เพราะการหล่อหลอมทางสังคม ต้องอาศัยบริบททางวัฒนธรรม สมเด็จสันตะปาปาฟรังซิส ทรงห่วงใยว่า ลัทธิบริโภคนิยมจะทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง และดึงดูดให้ลูกหลานรุ่นใหม่ตกเป็นเหยื่อและลืมรากเหง้าของตนเอง พระองค์ทรงเรียกร้องให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างชนพื้นเมือง เพราะยิ่งมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเผ่ามากเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้แต่ละชนเผ่าได้ตระหนักหวงแหนถึงอัตลักษณ์ คุณค่า และวัฒนธรรมที่ดีงาม ของตนไว้ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เป็นการดึงเอาสิ่งที่ดีของความเป็นชนพื้นเมืองออกมา เพื่อการเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน และไม่มีวัฒนธรรมใดเหนือกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง
(3) เรื่องนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นการกล่าวซ้ำเรื่องสำคัญในสมณสาสน์เลาดาโต ซี นั่นคือ การดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ แยกออกจากการดูแลผู้คน หรือนิเวศมนุษย์ไม่ได้ ทุกสิ่งล้วนที่ความสัมพันธ์กัน ที่ดิน ป่าไม้ ไม่ใช่แหล่งสำหรับการแสวงหาผลประโยชน์ แต่เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน และสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วย สมเด็จสันตะปาปาฟรังซิส ทรงตระหนักถึงความมหัศจรรย์ลึกลับของภูมิภาคแอมะซอนว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะธรรมชาติที่หลากหลาย แม่น้ำสายใหญ่ และลำน้ำสาขาที่ไหลผ่าน ผืนป่าและที่ราบลุ่ม ได้ถักทอเป็นโครงข่าย และโอบอุ้มสรรพชีวิตต่างๆ โลกทัศน์ ศิลปะ วัฒนธรรม บทกวี และแบบแผนการดำเนินชีวิตของชนพื้นเมือง ก็ได้รับการหล่อหลอมจากความผูกพันใกล้ชิดธรรมชาติที่น่าพิศวงนี้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาด้านนิเวศในพื้นที่แอมะซอน ต้องผสมผสานความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองเข้าด้วยกัน และหากจะมีโครงการใดๆ เข้าไปในพื้นที่แอมะซอน ต้องได้รับฉันทามติจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อน
(4) พระศาสนจักรท้องถิ่น ที่มีรูปโฉมแบบแอมะซอน เป็นพระศาสนจักรที่เคลื่อนเข้าไปและอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบและทำงานด้วยความอ่อนโยน อดทน และรับฟัง ศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นจริงของพื้นที่ ที่พระศาสนจักรดำรงอยู่ ไม่ดูถูกความร่ำรวยของภูมิปัญญา ไม่ปฏิเสธสิ่งที่ดีงามที่มีอยู่แล้วในวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองแอมะซอน นอกจากนี้ ผู้ทำงานประกาศข่าวดีในพื้นที่แอมะซอน ต้องมีมิติทางสังคม ต้องบูรณาการงานพัฒนา งานปกป้องสิทธิชนพื้นเมือง ควบคู่ไปกับงานด้านจิตวิญญาณ เพื่อช่วยให้ชนพื้นเมืองสามารถดำรงชีวิตอย่างสมบูรณ์ปลอดภัย มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และไม่ถูกกีดกันเป็นคนชายขอบสังคม
นอกจากนี้ มีการอธิบายเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ว่า เป็นเครื่องมือเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพระหรรษทานของพระเจ้ากับสิ่งสร้าง ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และต้องเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนใส่ใจต่อปัญหาและลงมือกระทำเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
สำหรับบรรดาธรรมทูตที่เข้าไปทำงานในภูมิภาคแอมะซอน ก็ต้องทำพันธกิจด้วยความใจกว้าง เห็นอกเห็นใจ มากกว่าที่ยึดติดกับกฎระเบียบที่เคร่งครัด จนกลายเป็นอุปสรรค ทำให้ชาวบ้าน คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ได้ และทิ้งศาสนาหรือความเชื่อไป
พระสันตะปาปา ทรงตระหนักถึงสถานการณ์ที่ชนพื้นเมืองอพยพจากป่าเข้ามาสู่เมืองมากขึ้น โดยเฉพาะยิ่ง เยาวชนที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ จึงเรียกร้องให้มีงานธรรมทูตเพื่อผู้อพยพ
ที่สุด แม้จะเผชิญกับการเรียกร้องให้บวชบุรุษที่เคยผ่านการแต่งงานแล้วเป็นพระสงฆ์ หรือบวชสตรีเป็นสังฆานุกรได้ เพื่อลดปัญหาขาดแคลนพระสงฆ์ที่พื้นที่ห่างไกล พระองค์ทรงยกย่องบทบาทของฆราวาส ครูคำสอน และสตรี ที่มุ่งมั่นอุทิศตนในการทำงานประกาศข่าวดีตามแบบฉบับของพระเยซูคริสต์ และยอมรับว่าพระศาสนจักรภูมิภาคแอมะซอนอยู่รอดและยั่งยืนมาได้ด้วยพลังของกลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้
บทสรุปที่สำคัญ
- ชนพื้นเมืองมิได้ผูกติดกับรัฐชาติ แต่ผูกติดกับกลุ่มชนพื้นเมือง เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ การใช้ความรุนแรงต่างๆ ได้ง่าย
- ศาสนจักรที่อยู่กับ และเพื่อคนยากจน คือศาสนจักรที่เคลื่อนเข้าไปและอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบ และกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของสภาพระสังฆราชภูมิภาคแอมะซอน เป็นรูปแบบใหม่ของการปลดปล่อยอาณานิคม
- สมัชชาพระสังฆราชภูมิภาคแอมะซอน ยืนยันพัฒนาการศาสนจักรคาทอลิก เป็นสถาบันที่ส่งเสริมสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิของประชาชนและชุมชนในชนบทไม่เพียงแต่ในภูมิภาคแอมะซอน แต่ทั่วโลก
- พระศาสนจักรรับรู้ถึงสิทธิของธรรมชาติและยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐาน 3 ประการสำหรับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น (1) สิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง (2) สิทธิที่ได้รับการยอมรับในดินแดนดั้งเดิมของพวกเขาและได้รับอิสระ (3) สิทธิในการได้รับความยินยอมล่วงหน้าและได้รับบอกกล่าว เมื่อโครงการพัฒนาใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา
- คาดกันว่า หากที่ประชุม COP ครั้งที่ 26 ปี 2020 นำเอาข้อเสนอภาคปฏิบัติจากการประชุมสมัชชาพระสังฆราชภูมิภาคแอมะซอน ในเรื่องของการตระหนักและยอมรับบทบาทและสิทธิของชนพื้นเมือง ที่ผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติไปใช้ จะสามารถชะลอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นการยืนยันในสิ่งที่สมณสาสน์เลาดาโต ซี ได้ทำหน้าที่ของพระศาสนจักรต่อที่ประชุม COP ครั้งที่ 21 เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องเดียวกัน
- สมณลิขิตเตือนใจแอมะซอนที่รัก เป็นเอกสารที่เรียกร้องให้เราได้ฟังเสียงร้องของโลกและเสียงร้องของประชากรของพระเจ้าผู้กำลังเดือดร้อนอีกครั้ง และทำให้สมณสาสน์เลาตาโต ซี มีคุณค่าต่อการนำไปไตร่ตรองและปฏิบัติอยู่เสมอๆ